ประวัติ ของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์)

เกิดวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 บิดาชื่อ ขุนสารการ (ทองดี) อาชีพรับราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย และเป็นผู้พิพากษา มารดาชื่อ พับ

จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เข้ารับราชการเป็นล่ามภาษาอังกฤษในกรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2463 ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 โอนย้ายไปรับราชการในกระทรวงพาณิชย์ จนเกษียณอายุในตำแหน่งหัวหน้ากองมาตราชั่งตวงวัดเมื่อปี พ.ศ. 2500

เริ่มชีวิตนักประพันธ์ด้วยการเขียน บทละครร้อง ตั้งแต่อายุได้ 20 ปี หลังจากนั้นก็ได้ทำงานเขียนประเภท นิยาย สารคดี การประพันธ์เพลง และภาพยนตร์

ในปี พ.ศ. 2473 หม่อมราชวงศ์อนุศักดิ์ หัสดินทร์ แห่งหัสดินทร์ภาพยนตร์ ติดต่อให้ช่วยแต่งเรื่อง จึงได้ประพันธ์บทถ่ายทำเรื่องแรกในชีวิต "รบระหว่างรัก" และเป็นผู้กำกับการแสดงด้วย

ต่อมาเป็นผู้ประพันธ์เรื่องและเพลงตลอดจนกำกับการแสดงเรื่อง "หลงทาง" ซึ่งออกฉายเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2475 "หนังพูด" เรื่องยาวครั้งแรก ของ ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง มีเพลงประกอบทั้งหมด 6 เพลง คือ เพลงพัดชา เพลงบัวบังใบ เพลงลาวเดินดง เพลงกุหลาบหอม (ขึ้นพลับพลา) เพลงโยสะลัม และเพลงเงี้ยว โดย ขุนสนิทบรรเลงการใช้ทำนองเพลงไทยเดิมทั้งหมด แล้วใส่เนื้อร้องประกอบเข้าไป ออกฉายที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร ได้รับคำชมเชยเป็นอย่างดี ทำให้ศรีกรุงได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกภาพยนตร์เสียงอย่างสมบูรณ์แบบ

ร่วมงานกับภาพยนตร์เสียงศรีกรุงโดยตลอด สร้างผลงานที่น่าจดจำไว้หลายเรื่อง ทั้งข่าวสารคดี และแนวบันเทิงคดี เช่น บันทึกเหตุการณ์ ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี (2475) และ บันทึกเหตุการณ์ สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ (2475) ทั้งสองเรื่องเป็นข่าวสารคดี ส่วนแนวบันเทิงคดีปีเดียวกัน คือ เรื่อง "หลงทาง" หนังพูดเรื่องยาวแรกของหนังเสียงศรีกรุง

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร์ได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ เมื่อแรกๆ นั้น ได้ใช้คำร้องของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ประพันธ์ เป็นเพลงชาติไทยฉบับที่ห้า ใช้"ระหว่างปี พ.ศ. 2475-2477

ในปี พ.ศ. 2485 เกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา สร้างความเดือดร้อน เกิดภาวะขาดแคลนขึ้นในอุตสาหกรรมทุกระดับ ไม่เว้นแม้แต่ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ฟิล์มเริ่มขาดแคลน ศรีกรุงเลิกทำหนัง เหลือแต่ของรัฐบาลที่มีเนื้อหาปลุกใจให้รักชาติทั้งหมด หนึ่งในหลายเรื่องที่โดดเด่นคือ "บ้านไร่นาเรา" ของกองทัพอากาศ เรื่องราวของชาวนากับอุดมการณ์รักชาติ ที่สอดคล้องกับนโยบายการบริหารประเทศของ จอมพล ป. พิบูลสงครามผู้นำประเทศ ในสมัยนั้น รวมทั้งเพลงประกอบอมตะ "บ้านไร่นาเรา" โดยพระเจนดุริยางค์ ประพันธ์ทำนองในแนวของความขยันขันแข็งในการทำงาน บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ และเป็นเพลงที่ สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ยกย่องเป็น เพลงลูกทุ่ง เพลงแรกในงานวันเพลงลูกทุ่ง

พ.ศ. 2486 ประพันธ์บทละครเวทีและเพลงอมตะเรื่อง "ศรอนงค์" จัดแสดงโดยคณะละครของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระมเหสีในรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงดำริให้เป็นมรหสพเพื่อบำรุงขวัญกำลังใจของประชาชนในภาวะเงียบเหงายามสงคราม ที่ศาลาเฉลิมกรุง ละครและเพลงประกอบยังคงได้รับความนิยม เป็นละครทางทีวีและรีวิวคอนเสิร์ตจนทุกวันนี้

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ได้ประพันธ์เรื่องเพื่อทำภาพยนตร์ อีกครั้งใน พ.ศ. 2495 เรื่อง "ทะเลรัก" อำนวยการสร้างโดย เสวตร์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ปีถัดมาภาพยนตร์จากนวนิยายชื่อเดียวกัน (ที่ประพันธ์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2469) เรื่อง "วารุณี" ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเป็นภาพยนตร์ 16 มิลลิเมตรบันทึกเสียงลงในฟิล์ม ประสบความสำเร็จพอสมควร งานประพันธ์อีกเรื่องเป็นบทละครประกอบเพลงทางไทยทีวีช่อง 4 เรื่อง "มาร์โคโลกับคุบไบลข่าน" นำแสดงโดย อารีย์ นักดนตรี คู่กับ กำธร สุวรรณปิยะศิริ ซึ่งรับบทนำครั้งแรก พ.ศ. 2502[1]กับเรื่องอื่นๆ ได้แก่ เจ้าจอมเจียวกุน ,ไซซี ,ฮวนลิฮวยกับซิเต็งซัน ฯลฯ

พ.ศ. 2514 ภาพยนตร์เสียงศรีกรุง กลับมาสร้างหนังซาวด์ออนฟิล์มอีกครั้ง (ท่ามกลางกระแสนิยมการสร้างหนัง 16 มม. และหนังสโคป เสียงพากย์ในฟิล์ม) และได้เชิญเป็นผู้กำกับการแสดงเรื่อง กลัวเมีย (สร้างใหม่ ) ก่อนปิดกิจการถาวรในปีต่อมา

นับแต่นั้นก็มิได้เกี่ยวข้องกับงานภาพยนตร์อีกเลย จนวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 มีอายุได้ 83 ปี